2551-09-09

เลนส์





ลักษณะของเลนส์ของกล้องถ่ายรูป
เลนส์เป็นชิ้นส่วนที่สำคัญที่สุดของกล้องถ่ายรูป ภาพที่ได้จะมีคุณภาพดีหรือไม่ดีนั้น ขึ้นอยู่กับคุณภาพของเลนส์ เป็นอย่างมาก บางบริษัทไม่มีความชำนาญในการผลิตเลนส์ที่มีคุณภาพดีจำเป็นต้องจ้างบริษัทอื่น ๆ ผลิตให้ในขณะที่ตนเอง ผลิตเฉพาะตัวกล้องเท่านั้น เช่น บริษัทที่ผลิตกล้องถ่ายภาพยี่ห้อ Hasselbad ได้จ้างบริษัทเยอรมันชื่อ Zeiss เป็นผู้ผลิตเลนส์ให้กับตนเอง
เลนส์มีลักษณะเป็นวัสดุโปร่งใส ทำด้วยแก้วหรือพลาสติกมีรูปกลมแบนพื้นหน้าเรียบ มักฉาบด้วยน้ำยาสีน้ำเงินหรือ สีน้ำตาล เพื่อกันแสงสะท้อนหรือแสงหักเหกล้องราคาถูก ๆ มักใช้เลนส์ที่มีคุณภาพไม่สู้ดีนัก ในทางตรงกันข้ามกล้อง ที่มีราคาค่อนข้างแพงจะเลือกใช้เลนส์ที่มีคุณภาพดีโดยปกติมีเลนส์ลักษณะโค้งเว้ารวม 3 ชิ้นขึ้นไปติดตั้งเรียงกัน ภายในกระบอก และสามารถส่งผ่านแสงสว่างได้มาก คุณภาพของเลนส์จะผลิตภาพได้คมชัดเจนมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับคุณภาพของวัสดุที่นำมาใช้ทำเลนส์ และเทคนิคในการประกอบ ตลอดจนการเรียงลำดับของเลนส์นั้นๆ


หน้าที่หลักของเลนส์ คือ การทำหน้าที่รวมแสงนั้นไปปรากฏชัดเจนลงบนฟิล์ม ระยะจากเลนส์ถึงฟิล์ม เมื่อโฟกัสวัตถุไกลสุดขอบฟ้า เรียกว่าทางยาวโฟกัส (Focal Length) ใช้สัญลักษณ์ (F) ค่าทางยาวโฟกัสของ เลนส์แต่ละตัวจะบอกไว้ที่ขอบวงแหวนเลนส์ด้านหน้า เช่น F=50 mm เป็นต้น จะเห็นได้ว่าเลนส์ทำหน้าที่สองประการ คือ ประการแรกยอมให้แสงที่มีปริมาณมากพอ สำหรับการบันทึกผ่านไปตกลงบนฟิล์ม และ ประการที่สองโฟกัสรังสี ของแสง ให้ได้ภาพที่คมชัดเจน

กลับสู่เมนู

ชนิดของเลนส์
ใน การทำความเข้าใจเลนส์ ต้องเข้าใจทางยาวของโฟกัส (Focal Length) ของเลนส์ก่อน ทางยาวโฟกัส คือ ระยะความยาวจากจุดกึ่งกลางของเลนส์ถึงระนาบ ของฟิล์ม เมื่อเลนส์นั้นตั้งความคมชัดที่ระยะไกลสุดขอบฟ้า หรือ อินฟินิตี้ (Infinity) ทางยาวโฟกัสจะเป็นตัวกำหนดมุมของภาพที่ถ่าย เช่น ถ้าทางยาวโฟกัสของเลนส์นั้น สั้นจะได้ภาพถ่ายที่มีมุมกว้าง ทำให้เห็นทิวทัศน์ และวัตถุมากขึ้น แต่ระยะทางของวัตถุหรือทิวทัศน์จะไกลออกไปในทางตรงกันข้ามถ้ากล้องนั้นมี ความยาวโฟกัสยาว มุมของภาพถ่ายจะแคบซึ่งทำให้ดูเหมือนวัตถุและทิวทัศน์ในภาพใกล้เข้ามาและ แออัดกันอยู่ในภาพมาก หากยึดทางยาวโฟกัสเป็นเกณฑ์แล้ว สามารถแบ่งชนิด ของเลนส์ออกเป็น 3 ชนิดคือ

1. เลนส์ปกติ (Normal Lens, Standard Lens) เป็นเลนส์ที่มีความสามารถรับภาพได้ ขนาดเท่ากับที่ตามนุษย์มองเห็น ไม่ว่าจะเป็นด้านกว้างหรือด้านยาว รวมทั้งระยะความใกล้ไกลพอ ๆ กับการรับรู้ทางตา ของมนุษย์ โดยปกติความยาวโฟกัสของเลนส์ที่ใช้กับกล้อง 35 มม . คือ 43-55 มม . มีมุมรับภาพอยู่ระหว่าง 45 ถึง 50 องศา ส่วนเลนส์ปกติของกล้อง 6x6 ซม . มีทางยาวโฟกัส 75-80 มม . และของกล้องวิว ขนาดฟิล์ม 4x5 นิ้ว มีทางยาว โฟกัส 150 มม . นอกจากทางยาวโฟกัสแล้วเลนส์ยังบอกค่าความสามารถที่จะให้แสงผ่านไปได้มากที่สุด เท่าใด ซึ่งเรียกว่าเอฟสตอป (F-Stop) หรือ เอฟนัมเบอร์ (F-Number) ถ้าตัวเลขที่บอกเอาไว้ค่ายิ่งน้อย แสดงว่าเลนส์นั้น มีประสิทธิภาพสูง ที่ยอมให้แสงผ่านได้มากนั่นเอง

2. เลนส์มุมกว้าง (Wide Field lens, Wide Angle Lens, Short lens) เป็นเลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสสั้นกว่าเลนส์ปกติ ถ้าใช้กับกล้อง 35 มม . เลนส์มุมกว้างจะมีทางยาวโฟกัสเพียง 35 มม . หรือต่ำกว่านั้น การรับภาพจะรับได้มุมตั้งแต่ 60-180 องศา กล้อง 6x6 ซม . มีทางยาวโฟกัสของเลนส์ต่ำกว่า 50 มม . และสำหรับกล้องวิว 4x5 ซม . ประมาณต่ำกว่า 100 มม . เลนส์ชนิดนี้ให้ความชัดเจนลึกมากกว่าเลนส์ปกติ ใช้เลนส์ชนิดนี้ในกรณีที่ต้องการถ่ายภาพที่ ระยะระหว่างวัตถุกับกล้องมีจำกัด หรือ ใช้กับงานที่ต้องการเน้นลักษณะบางส่วน และข่มบางส่วนให้เป็นรองไป ข้อเสียของเลนส์มุมกว้างนี้ ก็คือ ภาพที่ได้จะผิดจากความเป็นจริงไป สิ่งใดที่อยู่ใกล้กล้องจะดูใหญ่โต สิ่งใดที่ห่างจะเล็กไม่ได้สัดส่วนกัน อย่างไรก็ตามเลนส์มุมกว้าง ยังแบ่งประเภทออกไปได้ 5 ประเภท คือ

2.1 เลนส์มุมกว้างปานกลาง (Moderate Wide Angle Lens) มีทางยาวโฟกัสระหว่าง 25-40 มม . มีมุมรับภาพ 62-82 องศา เลนส์มุมกว้างปานกลาง ที่นิยมใช้มาก คือ ขนาด 35 มม . และ 28 มม .
2.2 เลนส์มุมกว้างพิเศษภาพตรง (Recti linear Super Wide angle lens) มีทางยาวโฟกัสระหว่าง 15-24 มม . รับภาพมุมกว้าง 180-220 องศา
2.3 เลนส์มุมกว้างพิเศษภาพโค้ง (Semi Fish Eye Super Wide angle Lens) มีทางยาวโฟกัสระหว่าง 15-24 มม . เช่นกัน มีมุมรับภาพกว้าง 160 องศา และได้ภาพเส้นตรงปรากฏออกมาเป็นเส้นโค้งงอหมดโดยเฉพาะริมขอบภาพจะบวมโป่งออก มาคล้ายถังเบียร์ จะใช้เลนส์นี้เมื่อต้องการภาพลักษณะพิเศษ เพื่อจุดมุ่งหมายบางอย่างเท่านั้น
2.4 เลนส์มุมกว้างพิเศษ ภาพโค้งวงกลม (Fish Eye Lens) มีความยาวโฟกัส 1.9-12 มม . รับภาพมุมกว้าง 180-220 องศา เมื่อใช้เลนส์ชนิดนี้ภาพที่จะได้ มีสัดส่วนผิดไปจากความเป็นจริงมาก มีความคมชัดเกือบเท่ากันตลอดภาพแต่ไม่คมชัดเท่าที่ควร ภาพที่ได้เป็นวงกลมคล้ายจาน
2.5 เลนส์มุมกว้างพิเศษมาก (Peri Apollar Wide Angle Lens) เลนส์ชนิดนี้สามารถรับภาพได้มีมุมกว้างถึง 360 องศา รอบตัวผู้ถ่าย

3. เลนส์มุมแคบ (Narrow Angle Lens) หรือเรียกว่าเทเลโฟโต้ (Telephoto Lens) เลนส์ชนิดนี้มีความยาวโฟกัสยาวกว่าเลนส์ธรรมดา และมีมุมถ่ายภาพ แคบมาก จึงทำให้ภาพที่ได้มีขนาดใหญ่กว่าภาพที่ถ่ายด้วยเลนส์ปกติ ดังนั้นจึงอาจเรียกว่าเลนส์ดึงภาพก็ได้ เลนส์ชนิดนี้เหมาะสำหรับถ่ายภาพวัตถุที่อยู่ใกล้ ๆ ไม่สามารถเข้าไปถ่ายใกล้ ๆ ได้ หรือถ่ายภาพสัตว์ที่เป็นอันตราย ที่ผู้ถ่ายไม่สามารถเข้าไปใกล้ได้ ข้อเสียของเลนส์ชนิดก็ คือมีความชัดตื้นนั่นคือความลึกของ ระยะชัดสั้นมาก ดังนั้นเวลาปรับความคมชัดของภาพจำเป็นจะต้องพิถีพิถัน มิฉนั้นจะได้ภาพที่ไม่คมชัด นอกจากเลนส์ชนิดนี้จะขยายขนาดของภาพให้ดูใหญ่โตแล้วยังขยายความ เคลื่อนไหวของวัตถุ และของกล้องถ่ายภาพด้วย ดังนั้นผู้ใช้ต้องระมัดระวังในการ จับถือกล้อง โดยเฉพาะเวลาถ่ายภาพต้องให้กล้องอยู่ในที่มั่นคงแข็งแรง และนิ่งจึงจะได้ภาพที่คมชัด เลนส์เทโลโฟโต้สำหรับกล้อง 35 มม มีความยาวโฟกัสตั้งแต่ 65 มม . ขึ้นไปที่นิยมใช้มีขนาด 85 มม . 105 มม . 135 มม . และ 200 มม . ส่วนกล้อง 6X6 ซม . มีความยาวโฟกัส ตั้งแต่ 120 มม . ขึ้นไป และกล้องวิว 4X5 ซม . ตั้งแต่ 250 มม . ขึ้นไป

นอกจากนั้นยังมีเลนส์ชนิดอื่น ๆ ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อจุดมุ่งหมายในการถ่ายภาพให้เกิดความสะดวกสบาย และภาพที่สวยงามอีกมากมาย คือ
1. เลนส์ซูม (Zoom Lens, Variable Focal Length Lens) เป็นเลนส์ที่สามารถเปลี่ยนแปลงค่าทางยาวโฟกัสได้ (Vari – Focal length Lens) เลนส์ชนิดนี้สามารถเปลี่ยนความกว้าง และแคบของภาพได้ที่จุดยืนถ่ายภาพจุดเดียว ผู้ใช้เลนส์ซูมเปรียบเหมือนมีเลนส์หลาย ๆ ตัวอยู่ในมือเลนส์ชนิดนี้จะกำหนด ขนาดทางยาวโฟกัสไว้ว่า จะเปลี่ยนได้กี่มิลลิเมตรถึงกี่มิลลิเมตร เช่น อาจบอกว่า 35-105 มม . นั่นหมายความว่าเลนส์นั้นสามารถเป็นได้ทั้งเลนส์มุมกว้างที่มีทางยาวโฟกัส 35 มม . เปลี่ยนไปเป็นเลนส์เทเลโฟโต้ ที่มีความยาวโฟกัส 105 มม . ในตอนแรกที่เลนส์ซูมออกสู่ตลาดใหม่ ๆ คุณภาพยังไม่ดีเท่าที่ควรเนื่องจากเลนส์ซูม มีส่วนประกอบของเลนส์หลายชิ้นมากกว่า ดังนั้นจึงไม่ค่อยมีคนนิยม แต่ปัจจุบันนี้เลนส์ซูมได้รับการพัฒนาให้มีคุณภาพสูงขึ้น จึงเป็นที่นิยมมากยิ่งขึ้นราคาก็ถูกลง กว่าเดิมมากด้วย

2. เลนส์ถ่ายใกล้ (Close - up Lens) เลนส์ชนิดนี้เป็นเลนส์นูนธรรมดา เมื่อต้องการใช้ก็ส่วนเข้ากับเลนส์ปกติ เหมาะสำหรับก๊อบปี้ภาพเล็ก ๆ หรือถ่ายวัตถุได้ในระยะใกล้ ๆ ได้ถึง 6 นิ้ว ปกติเลนส์ชนิดนี้ 1 ชุด ประกอบด้วยเลนส์ 3 ตัว ซึ่งมีเบอร์บอกไว้ คือ +1,+2 และ +3

3. เลนส์ซ๊อฟท์ (Soft-Focus Lens) เป็นเลนส์ที่ใช้ถ่ายภาพให้ได้ภาพนุ่มนวลเหมือนฝัน ภาพมีความพร่ามัว ไม่คมชัดทั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อลบรอยเหี่ยวย่นบนหน้าหรือจุดที่ไม่น่าดู บนใบหน้าได้ เลนส์ชนิดนี้ใช้สวมเข้ากับเลนส์ ปกติเหมาะสำหรับการถ่ายภาพคน (Portrait) ดังนั้นจึงนิยมใช้ร่วมกับเลนส์เทเลโฟโต้ขนาดเล็กเช่น 85 มม . หรือ 105 มม .



4. เลนส์สำหรับถ่ายภาพวัตถุเล็ก ๆ (Macro หรือ Micro lens) เลนส์ชนิดนี้สามารถนำมาใช้ถ่ายภาพวัตถุเล็ก ๆ ได้ เพราะได้มีการแก้ไขข้อบกพร่อง ในการถ่ายรูปวัตถุเล็ก ๆ ไว้แล้วโดยปกติจะสามารถถ่ายภาพได้จนถึงขนาด 1:1 คือได้เท่าขนาดของวัตถุ นอกจากนั้นยังใช้แทนเลนส์ปกติได้ส่วนมากที่นิยมใช้คือ เลนส์ 55 มม . MACRO อย่างไรก็ตามในปัจจุบันเลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสต่าง ๆ กันก็มีความสามารถถ่ายวัตถุเล็ก ๆ ได้หรือมี MACRO เป็นส่วนประกอบ เช่น 105 มม. MACRO เป็นต้น มีข้อควรระวังในการใช้เลนส์ MACRO คือไม่ควรเปิดรูรับแสงให้เล็กเกินไปเพราะจะทำให้เกิดการเลี้ยวเบนของแสง และแสงที่เลี้ยวเบน นี้เองจะไปทำลายคุณภาพของภาพบนฟิล์ม ดังนั้น จึงนิยมใช้เลนส์ชนิดนี้ร่วมกับเบลโลล์ (Bellow) หรือท่อต่อ (Extension Tube)

5. เลนส์สำหรับเพิ่มทางยาวโฟกัส (Teleplus,Teleconverter, Extender) เป็นเลนส์ที่นำมาใช้สวมเพิ่มทางยาวโฟกัสให้กับเลนส์อื่น ๆ ให้มีทางยาวโฟกัสมากขึ้น ทางยาวโฟกัสจะเพิ่มขึ้นตามตัวคูณของมัน เช่น 2X หมายความว่าทางยาวโฟกัสเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า และ 3X มีทางยาวโฟกัส 3 เท่าเป็นต้น อย่างไรก็ตามเมื่อเพิ่มทางยาวโฟกัสด้วยเลนส์ชนิดนี้ จะทำให้ลดปริมาณของแสงลงด้วยดังนั้นผู้ใช้ต้องเปิดหน้ากล้องเพิ่มขึ้นจึงจะ ได้ปริมาณของแสงที่พอเหมาะ

6. เลนส์ถ่ายภาพระยะไกลชนิดที่มีการสะท้อนแสงภาพภายในตัวกระบอกเลนส์ (Mirror Lens) เลนส์ชนิดนี้ก็ คือ เลนส์เทเลโฟโต้นั่นเอง แต่แทนที่จะให้ ตัวเลนส์มีความยาวมาก ๆ ตามทางยาวโฟกัสก็พัฒนาปรับปรุงให้สั้นเข้า มีน้ำหนักเบาขึ้น โดยใช้หลักการสะท้อนแสงภายในกระบอกเลนส์ เช่นเดียวกับหลักการ ของกล้องส่องทางไกล กล่าวคือให้แสงสะท้อนไปมาในกระบอกเลนส์แทนการให้แสงเดินทางเป็นเส้นตรง ดังนั้นเลนส์ 1000 มม . อาจจะมีขนาดสั้นเท่ากับเลนส์ 300 มม . ได้ ข้อควรระวังในการใช้เลนส์ชนิดนี้ คือ การควบคุมปริมาณของแสงในการถ่ายภาพ ต้องควบคุมความเร็วชัตเตอร์เพียงอย่างเดียว นั่นคือควบคุมเรื่องเวลา ให้แสงผ่านเข้าไปยังฟิล์ม เพราะไม่สามารถควบคุมขนาดรูรับแสงได้ เนื่องจากเลนส์ไม่มีไดอะแฟรม

0 ความคิดเห็น: